|
ผู้ที่มีความเหมาะสมในการรับการผ่าตัดแบบนี้ที่สำคัญคือไม่ควรมีโรคประจำตัวบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด
ที่สำคัญคือสายตาควรจะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก
เพราะการผ่าตัดเป็นการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติเท่านั้น
ไม่ได้ป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงของสายตาในภายหลังอีกและก็ไม่สามารถใช้ในการรักษาโรคหรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับ
การมองเห็นอย่างอื่นด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้ามีโรคหรือความผิดปกติอย่างอื่นของดวงตาควรรักษาให้หายก่อนนะครับ
สายตาสั้นที่เคยมีการทำมาในเมืองไทยมีตั้งแต่
-๑๕๐ ไปจนถึง -๔,๐๐๐ สามารถแก้กลับมาได้จนเหลือศูนย์ไปจนถึงสั้นร้อยกว่าๆ
ส่วนสายตายาวก็สามารถแก้ไขได้แต่ยังมีการทำน้อยจนไม่สามารถสรุปผลอย่างละเอียดได้
สำหรับขั้นตอนในการเตรียมตัวผ่านั้น แรกสุดก็คือติดต่อแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่เสียก่อน
เจ้าหน้าที่จะนัดพบแพทย์เพื่อพูดคุยถึงรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการผ่าตัดพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ซักถามข้อข้องใจต่างๆ
แล้วจึงส่งไปวัดสายตาอย่างละเอียด
ตอนนี้ถ้าใครที่ใช้คอนแทคเลนส์อยู่ควรงดใช้อย่างน้อย
๓-๕ วันก่อนไปวัดสายตานะครับ
ไม่งั้นอาจทำให้การวัดได้ผลคลาดเคลื่อนได้
ขั้นตอนการวัดสายตาค่อนข้างละเอียดกว่าการวัดเพื่อตัดแว่นธรรมดานะครับ
มีการหยอดยาขยายม่านตาซึ่งแสบพอสมควร
แล้วก็มีผลข้างเคียงคือการที่ม่านตาถูกขยายอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถ
ควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านเข้าตาได้
เมื่อเดินออกมาในที่แจ้ง แสงจะเข้าตาในปริมาณที่มากจนไม่สามารถลืมตาได้
และจะปวดตามากเมื่อโดนแสง
ถ้ารู้ล่วงหน้าจะหาแว่นตาดำเตรียมไว้ก่อนจะมีประโยชน์มากครับ
(ผมไม่ได้เตรียมแว่นไป
ต้องหลับตามาตลอดทางจนถึงบ้าน
โชคดีที่ไม่ได้ขับรถไปเอง) ข้อเสียอีกอย่างคือยาจะทำให้ดวงตาไม่สามารถโฟกัสภาพได้
ทำให้อ่านหนังสือไม่ได้
มองใกล้ไม่ได้ คนที่ทำงานเอกสารหรืองานที่ต้องมองใกล้ๆต้องเคลียร์งานดีๆก่อนนะครับ
ยาออกฤทธิ์อยู่วันกว่าๆเกือบสองวัน
หลังจากวัดสายตาแล้วก็นัดวันผ่าตัดครับ คุณหมอที่ผ่าให้ผมท่านคิวยาวมาก ต้องรอคิวอยู่เกือบสองเดือนถึงจะได้ผ่า
วันที่ผ่าก็เตรียมอาบน้ำสระผมมาก่อนนะครับเพราะจะต้องระวังไม่ให้ตาที่ผ่าโดนน้ำอีกสองสัปดาห์
ไม่ต้องอดข้าวมาเหมือนการผ่าตัดอื่น
ระหว่างนั่งรอผ่าตัดจะได้รับการหยอดยาชาหลายครั้ง
เมื่อถึงคิวก็ถูกนำตัวเข้าไปนอนบนเตียงผ่าตัด มีการทำความสะอาดรอบๆดวงตา
ปูผ้าปราศจากเชื้อ
ใส่เครื่องถ่างเปลือกตา การผ่าตัดทุกขั้นตอนไม่มีความเจ็บปวดนะครับ
คนที่กลัวเจ็บได้อ่านตรงนี้แล้วคงใจชื้นขึ้น
ไม่มีการวางยาสลบ
อาศัยแต่ยาชาที่หยอดให้ก่อนผ่าตัดเท่านั้น ผู้รับการผ่าจะรู้สึกตัวตลอด ตอนฝานกระจกตาจะรู้สึกแต่ว่าหนักๆที่ลูกตา
คุณหมอจะบอกการทำทุกขั้นตอนให้เราทราบเพื่อเราจะได้ไม่ตกใจ
เครื่องเลเซอร์มีเสียงดังเล็กน้อย แต่ก็ไม่เจ็บเหมือนกัน
ที่สำคัญคือการผ่าตัดต้องการความละเอียดประณีตสูงมากและต้องอยู่ในภาวะปลอดเชื้อ
จึงต้องการความร่วมมือของผู้รับการผ่าตัด
อย่างมาก
จำเป็นต้องนอนนิ่งๆ อย่าเอามือเข้ามารบกวนการผ่าตัด อย่ากลอกตาไปมาระหว่างผ่า
อย่าดิ้นรนเพราะอาจจะก่อให้เกิด
อันตรายอย่างมากได้
เวลาที่ใช้ตั้งแต่ขึ้นเตียงผ่าตัดจนถึงผ่าเสร็จไม่เกินข้างละ ๕ นาทีแต่หลังจากผ่าเสร็จแล้วคุณหมอจะปิด
กระจกตาที่เปิดออก
ระหว่างผ่าตัดกลับเข้าที่แล้วต้องรอให้กระจกตาติดเข้าที่อีก ๔ นาที โดยไม่มีการเย็บ
รวมแล้วใช้เวลาทั้งหมดข้างละไม่เกิน
๑๐ นาทีครับ
คุณหมอจะผ่าให้หนึ่งข้างก่อนแล้วนัดมาผ่าอีกข้างหนึ่งประมาณ
๑ สัปดาห์หลังจากผ่าข้างแรก เพื่อจะได้สามารถใช้ตา
ข้างที่ไม่ผ่าช่วยเหลือตัวเองได้ตามสมควร
แต่ถ้ามีเวลาจำกัดหรือมีความจำเป็นบางประการ อาจจะขอให้คุณหมอผ่า
ใหัทั้งสองข้างพร้อมกันได้
หลังผ่าจะถูกปิดตาด้วยที่ปิดตาแบบมีรูที่สามารถมองผ่านได้ แล้วก็สามารถมองเห็นได้ชัดเจนทันทีครับ
ต้องปิดตาไว้
๑ วัน วันรุ่งขึ้นคุณหมอจะนัดมาเปิดตาพร้อมกับดูแผลผ่าตัด ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็เปิดตาไว้ได้เลย
พร้อมทั้งให้ยาปฏิชีวนะกลับมาหยอดเป็นระยะๆ
นัดตรวจอีกครั้งพร้อมผ่าตัดตาอีกข้างเมื่อ ๑ สัปดาห์
ระหว่าง
๑ สัปดาห์แรกจะต้องปิดตาตอนนอนทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เผลอขยี้ตาขณะหลับ
เพราะอาจทำให้กระจกตาที่ถูกฝานออกระหว่างผ่าตัดหลุดออกมาได้ซึ่งจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย
หลังผ่าสองอาทิตย์ก็ถูกน้ำได้ ความคมชัดหลังผ่าตัดดีมากเลยครับ
วัดสายตาแล้วจากสั้น -๓๗๕ ทั้งสองข้างก็หายหมดเหลือเป็นศูนย์ทีเดียว
แต่ผลระยะยาวยังต้องรอดูต่อไปนะครับ
มีเพื่อนที่ผ่าตัดไปปีเศษแล้วตอนนี้ก็ยังมองได้ชัดเจนเหมือนเดิม
สำหรับสถานที่ที่รับทำการผ่าตัดแบบนี้ปัจจุบันมีอยู่ที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แล้วก็
โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง
หลักในการเลือกสถานที่ง่ายๆคือควรจะถามให้ได้ข้อมูลชัดเจนก่อนว่าแพทย์ผู้ทำมีประสพการณ์ทำมามากน้อยแค่ไหน
ผลเป็นอย่างไร
ทำมานานแค่ไหนแล้ว
ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ มีผลข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ อยากรู้อะไรก็เตรียมคำถามมาถามได้
เชื่อว่าแพทย์ที่ดูแลคงเต็มใจที่จะตอบคำถามให้ทั้งหมดครับ
ค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลรัฐบาลจะคิดประมาณ ๒๕,๐๐๐ ถึง
๓๐,๐๐๐ บาทต่อตาหนึ่งข้าง ซึ่งเบิกไม่ได้นะครับ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็คงจะแพงกว่านี้ไม่มากนัก
การที่ต้องคิดแพงขนาดนี้ก็เป็นค่าอุปกรณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างใบมีดพิเศษที่ใช้ฝานกระจกตาก็ชุดละ
๕,๐๐๐ บาท ใช้แล้วทิ้งเลย ค่าเครื่องยิงเลเซอร์ ก็ข้างละ ๒๐,๐๐๐ บาทเป็นอย่างน้อย
(ค่าตัวเครื่องยิงเลเซอร์ของบางโรงพยาบาลราคาตั้งเกือบร้อยล้าน)
ปัญหาอาจจะอยู่ที่ต้องซื้ออุปกรณ์ทั้งหมด
เป็นเงินดอลล่าร์ด้วยทำให้ผู้ใช้อย่างเราต้องจ่ายแพงอย่างที่ว่า
แต่จะว่าไปอัตรานี้ก็ถือว่าถูกแล้ว
เพราะเพื่อนที่อเมริกาบอกว่าต้องถ้าทำที่นั้นต้องเสียถึง
๔,๐๐๐ ดอลล่าร์ ซึ่งแพงกว่าบ้านเรามากนัก
ตัวผมเองได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่งซึ่งเป็นแห่งแรกที่เอาวิธีการผ่าตัดแบบนี้เข้ามาใช้
แต่ต้องขออภัยที่ไม่สามารถเปิดเผยในที่นี้ได้เพราะผิดมรรยาททางการแพทย์ครับ
ผลที่ได้จัดว่าน่าพอใจเพราะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องใส่แว่นอีก
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการติดตามผล
ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงคงจะเก็บมาเล่าให้อ่านกันอีก
ถ้าข้องใจหรือมีปัญหาอยากสอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อได้ที่
[email protected]
ครับ
|
ผมมีนัดไปพบจักษุแพทย์อีกครั้งหลังปีใหม่
ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงจะมาเล่าให้ฟังเป็นระยะๆครับ
โดย
นพ.สมศักดิ์
วชิรไชยการ